เรื่องเล่าขานตำนานเกาะสีชัง
เรื่องเล่าและตำนานจากบันทึกประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของปู่ ย่า ตา ทวด
เกาะสีชังเป็นจุดจอดพักทอดสมอหลบลมของเส้นทางเดินเรือสินค้าและเรือโดยสารทั้งหลายทางชายฝั่งทะเลตะวันออก อันเชื่อมโยงการค้าสำเภาในทะเลจีนใต้กับเมืองต่างๆในภาคกลางของราชอาณาจักรสยาม นักเดินเรือชาวตะวันตกก็ยังรู้จักเกาะสีชังดี ในนาม " เกาะดัทช์ " เพราะพ่อค้าชาวดัทช์ของบริษัท ดัทช์ อีสท์ อินดีส์ ( Dutch East Indies ) นิยมใช้เกาะสีชังเป็นที่พักเรือ ( สร้างเรือนซาร์เลวิช ) ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( ร.๒ )
ชาวเกาะสีชังเป็นใคร..มาจากไหน ?
เกาะสีชังเป็นจุดพักหลบคลื่นลมของเรือสินค้าในอดีตจึงมีผู้แวะเวียนมาพักอาศัยมาช้านาน ในอดีตชุมชนเดิมก่อนต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งถิ่นฐานอยู่ปลายแหลมวัด(อดีตเคยมีวัดอยู่)ภายในวังร.๕ ปัจจุบัน ต่อมาร.๕ ทรงโปรดให้สร้างวังจึงย้ายชาวบ้านมาอยู่บริเวณไร่บน(ท่าบน)และแหลมพระยาชลยุทธ(ท่าล่าง) บางส่วนมาปลูกอยู่แถวคลองพระยาสมุทรหน้าประตูวัง(เบนซ์บังกะโลปัจจุบัน) จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังเลือกทำเลที่อาศัยอยู่ชายฝั่งริมทะเลเป็นหลักเนื่องจากทำอาชีพประมง พื้นที่ราบด้านบนจะมีการปลูกผลไม้จำพวกน้อยหน่าและทับทิม ในบันทึกจดหมายเหตุของร.๕ ทรงบรรยายถึงรสชาติความอร่อยลึกล้ำเมื่อได้ชิมผลไม้สองชนิดนี้ที่ยายเสมนำมาถวาย
ท้าวคิรีรักษา(ยายเสม) ผู้ปกครองชุมชนเกาะสีชังในยุคประวัติศาสตร์
เดิมทีนางมีชื่อว่า ยายเสมเป็นชาวบ้านที่เกาะสีชังให้ความนับถือ ได้พาชาวบ้านเข้าเฝ้า ร.๔ (นางคือผู้ถวายทับทิมและหน่อยหน่าแสนอร่อย) เมื่อครั้งเสด็จเยือนเกาะสีชังโดยมี ร.๕ ซึ่งยังทรงวัยเยาว์ติดตามมาด้วย ร.๔ และทรงแต่งตั้งให้เป็นท้าวคิรีรักษาเพื่อคอยดูแลชาวบ้านบนเกาะสีชัง จวบจนถึงแผ่นดินสมัยร.๕ ท่านทรงเสด็จประพาสจันทบุรีได้ทรงแวะค้างคืนที่เกาะสัชัง( ร.๕ เวลานั้นอายุได้ ๒๓ ปี) จึงได้เสด็จไปเยี่ยมยายเสมถึงไร่ทับทิมเพื่อถามไถ่ทุกข์สุข พระองค์ทรงจำเค้าลางได้ว่าระหว่างทางต้องผ่านไร่พริกและบ่อน้ำที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ)ได้เคยมาขุดไว้ แต่เดิมไม่ได้เป็นบ่อแต่มีคนได้ลายแทงมาว่ามีเงินอยู่ตรงนี้ พอขุดก็พบว่ามีเงินอยู่จริงแต่พอเอื้อมไปหยิบเงินเกิดเลื่อนครึดคราดและจมหายไป เมื่อท่านเจ้าพระยามาขุดแอ่งหินแห่งนี้จนเป็นบ่อน้ำไว้กินใช้ บ่อแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า " บ่อเงิน " อยู่ตอนบนของคลองเทียนเหนือด้านท้ายเกาะ ในบันทึกจดหมายเหตุร.๕ทรงตรัสว่าเกาะสีชังมีอากาศดีคนเกาะจึงมีอายุนับร้อยปีมีร่างกายแข็งแรง จึงทรงโปรดให้สร้างพระราชวังกลางทะเลแห่งแรกในสยามเพื่อไว้เป็นสถานที่ตากอากาศ
ชุมชนเก่าปลายแหลมวัด
ชุมชนเก่าที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองพระยาสมุทร
ด้านซ้ายมือของรูปภาพจะเห็นศาลศรีชโลธรเทพถัดไปคือที่ตั้งชุมชนเก่า ซึ่งปัจจุบันคือสถาบันวิจัยจุฬาฯไปจนถีงบ้านลุงจ้อนพ่อรองเนาว์ วงษ์มณีวรรณ ชายทะเลหลังร้านซูชิย่างไฟในปัจจุบัน
คนเกาะมีอาชีพประมง ทำไร่น้อยหน่า ทับทิม...
ยายแต๋วเล่าว่า ที่บ้านมีอาชีพค้าขายเป็นคหบดีกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแต่ก่อนคนเกาะจะเอาสินค้าพวกปลา น้อยหน่า ทับทิมไปแลกข้าวและอาหารที่แหลมกระบัง อ่าวกระสือ ว่ากันว่าเป็นแหล่งผลิตเหล้าชั้นเลิศ( แหลมฉบัง อ่าวอุดม ) คนแหลมฉบังและอ่าวอุดมมีอาชีพทำนา ต้มเหล้า ต่อมามีพวกคนจีน 4 คนในศรีราชา เจ้าของเรือใบชือ เรือหมู มีใบแล่นโดยใช้ใบเดียว ชื่อว่า เอี๋ยว(คนจีนได้เมียคนศรีราชา)/ ตาแป๊ะ /เจ๊กโง้ว/ตาฮั๊ว วิ่งบรรทุกของมาส่งค้าขายกับเกาะสีชัง ตอนนั้นยังไม่มีเรือโดยสารใครจะไปศรีราชาต้องอาศัยเรือเค้าไป การค้าขายกับแหลมฉบังและอ่าวอุดมจึงหมดไป
การติดต่อราชการแต่ก่อนเราขึ้นกับแขวงสมุทรปราการต้องแล่นเรือใบจากเกาะสีชังไปลำบากมาก ศรีราชาก็ยังเป็นป่ามีเสือมีช้างมีไข้ป่าชุกชมเพราะตัวอำเภอตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ่อน้ำพุร้อนบางพระ ในทะเลหน้าก็ฉลามก็เยอะเสี่ยงต่อการเดินทาง เล่ากันว่าฝรั่งลงไปว่ายน้ำที่เกาะลอยถูกฉลามกัดจนขาขาด ส่วนเกาะสีชังไม่ต้องพูดถึง เวลามีเรือน้ำมาส่งโรงเรียนดัดสันดานต้องจับฉลากกันว่ายน้ำไปลายสายน้ำเข้ามาฝั่งเพื่อเติมน้ำและน่าจะเป็นเรื่องจริงเพราะเมื่อร่วมยี่สิบปีที่แล้วตอนเค้าจัดงานกองข้าวหน้าศาลศรีชโลธรเทพ ยังเห็นฉลามหูดำงฝูงใหญ่ว่ายเข้ามาชายฝั่งน้ำตื้นๆตอนน้ำกำลังลงที่หน้าศาล ชาวบ้านบางคนก็ว่าฉลามเหล่านี้เค้าเข้ามาสักการะศาลศรีชโลธรเทพ ส่วนอาชีพประมงเมื่อก่อนส่วนใหญ่ใช้เรือแจวหากันชายฝั่งหน้าเกาะก็มีมากมาย ปลาหมึกก็มีแค่ตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้หมึกมาเล่นไฟก็เอาสวิงช้อนตักเอาแค่พอเต็มลำเรือเพราะทะเลยังสมบูรณ์ เมื่อยี่สิบปีก่อนผู้เขียนยืมแว่นตาไม้ไผ่ของลุงวันยายแก้วแม่ทิดโก๊ะท่าบนซึ่งเป็นเพื่อนเรียนเกษตรด้วยกันมา ชวนกันไปดำน้ำหน้าวัดท่าบนยังมีดอกไม้ทะเลสีสวยๆและปะการังอยู่เต็มไปหมด ผู้เขียนกับทิดโก๊ะเดินไปตกปลาชายฝั่งที่ถ้ำพังขากลับเอาไม้ไผ่แบกปลาเก๋ากลับบ้านจนไม้ไผ่หักจึงเชื่อได้ว่าเมื่อก่อนทุกอย่างบนเกาะสีชังอุดมสมบูรณ์จริงๆ
เกาะสีชังสถานที่พักตากอากาศบนเกาะแห่งแรกของเมืองไทย
ในอดีตคนไทยนิยมเดินทางไปวัดทำบุญในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่นับว่าเป็นการไปท่องเที่ยว ในสมัยรัชกาล4-5 คนไทยเริ่มรู้จักการท่องเที่ยวจากค่านิยมฝรั่งที่มาอยู่เมืองไทย รัชกาลที่ 5 ท่านทรงโปรดให้มีการสร้างที่พักให้กับพระโอรสและเชื้อพระวงศ์เพื่อได้มารักษาอาการป่วยไข้ที่เกาะสีชัง ซึ่งทรงตรัสว่าเป็นสถานที่ที่มีอากาศดี ต่อมาได้เปิดให้ฝรั่งและคนไทยได้มาเช่าพักผ่อนตากอากาศและรับรองแขกบ้านแขกเมืองที่เกาะสีชัง ในอดีตเราเรียกว่า " อาไศรยสถาน " ความหมายคือ สถานที่พักตากอากาศ ซึ่งเกาะสีชังน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสถานที่พักตากอากาศทางทะเลอันดับต้นๆของเมืองไทยที่เริ่มเกิดขึ้นในปีร.ศ. 111
ข้อมูลจาก.. ศาสตราจารย์(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ
เรือนซาร์เลวิชหรือเรือนขนมปังขิง
เรือนนี้ถูกสร้างโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน (British East India Company)ในยุคก่อนรัชกาลที่ ๔ เสด็จเกาะสีชัง เนื่องจากถูกปล่อยทิ้งร้างเสื่อมโทรมจนไม่สามารถพักค้างแรมได้ ต่อมาฝรั่งชาวอังกฤษที่มากับบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน มาขอเช่าบ้านพักตากอากาศในพระราชวังที่เกาะสีชังแต่รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิเสธไป ต่อมาได้ฝรั่งชาวเดนมาร์กมาเช่าที่แหลมพระยาชลยุทธทำโมเตลล็ลและโรงทำขนมปัง โมเต็ลสร้างจากไม้ทั้งหลังเป็นรูปตัวUมีจั่วด้านหน้าลักษณะคล้ายซุ้มศาลาสะพานอัษฏางค์ ส่วนโรงขนมปังลักษณะเป็นโรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าจั่วแหลม( เหมือนโรงอบขนมปังที่วังลพบุรี) ต่อมาใช้เป็นที่ทำการตำรวจ โรงอบขนมปังใช้ทำโรงปั่นไฟฟ้าของตำรวจ โดยมีจ่าเถา แก้วปิ่นทอง มีหน้าที่ดูแลปั่นไฟฟ้าและได้รื้อถอนไปกลายเป็นสถานีตำรวจเกาะสีชัง สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนและมีโรงแรมที่พักและโรงอบขนมปังฝรั่งโดยมีคนจีนที่เป็นลูกจ้างฝรั่งเป็นคนทำงาน
รัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเกาะสีชัง
นายพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์ (กัปตันริเชอลีเยอ)
ชื่อเดิม อ็องเดร ดูร์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือสยามและเป็นรองผู้บัญชาการรบของสยามในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็นผู้ออกแบบป้อมพระจุลจอมเกล้า เมื่อคราวยุคล่าอาณานิคมเกิดการสู้รบกับฝรั่งเศส ท่านรับหน้าที่ปกป้องดูแลปากอ่าวไทยโดยมาประจำการบัญชาการรบที่เกาะสีชังและเป็นผู้วางทุ่นระเบิดตั้งแต่เกาะล้านถึงเกาะสีชัง การสู้รบครั้งนั้นดุเดือดมาก ฝรั่งเศสบุกยึดเกาะสีชัง กองทหารเราถอยไปปักหลักที่ป้อมพระจุลฯโดยใช้ปืนเสือหมอบที่ท่านจัดหามาให้แต่ไม่สามารถสู้อาวุธของฝรั่งเศสได้ ต่อมาท่านได้ลากราบทูลรัชกาลที่ ๕ ออกจากราชการกลับไปอยู่บ้านเกิด ซึ่งร.๕ได้เสด็จไปส่งถึงประเทศสิงคโปร์และคราว ร.๕เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ท่านก็ได้ตามรับเสด็จตลอดการประพาส นักดำน้ำจะทราบดีถึงชื่อแหล่งดำน้ำที่สวยที่สุดในเมืองไทยที่ตั้งชื่อตามผู้ค้นพบคือ กองหินริเชลิว Richelieu rock หรือที่ชาวบ้านเรียกชื่อท่านว่า กัปตันริเชลิว
เรื่องเล่า..ค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสีชัง
เรื่องเล่าจากผู้ใหญ่เรือง หมื่นศรี ตอนที่แกเด็กแกชอบไปแอบดูพวกญี่ปุ่นที่มาตั้งค่ายในวังร.๕ ทหารญี่ปุ่นใจดีชอบให้ขนมกิน พวกนั้นสร้างหอคอยติดปืนกลจากไม้ไผ่ง่ายๆเอายิงเรือบินที่มาทิ้งระเบิดเพราะค่ายทหารญี่ปุ่นของเกาะสีชังเป็นที่ส่งกองบำรุงเสบียงไปช่วยรบทั่วสงครามมหาเอเชียบูรพา เห็นเรือโยโย่บรรทุกข้าวสาร เรืออินเดียหน้าเกาะขามใหญ่โดนเครื่องบินระเบิดจมต่อหน้าต่อตาเหลือรอดแค่ไก่ตัวเดียว เสียงปืนกลญี่ปุ่นยิงต่อสู้กับเรือบอนปานเสียงลๆไม้ไผ่ถูกทุบแตก สิ่งที่น่าแปลกใจคือ วัง ร. ๕ ไม่เคยได้รับความเสียหายจากลูระเบิดเลยจนคนสมัยนั้นเชื่อกันว่าเพราะบารมี ร.๕ ท่าทรงปัดลูกระเบิดตกลงน้ำหมด เวลามีเสียงหวอชาวบ้านก็จะวิ่งไปหลบตามถ้ำ สถานที่ที่ชาวบ้านใช้หลบภัยมากที่สุดคือ ชักลับ(บริเวณวัดถ้ำยายปริก) ตรงนี้ลุงเรืองบอกว่าแต่ก่อนไม่มีใครกล้าเข้าไปเล่ากันว่าเป็นเมืองลับแล ชาวบ้านมักได้ยินเสียงเครื่องดนตรีไทยลอยมาตามลมให้ได้ยินเสมอ
ลุงธนู ปิ่นอนงค์ (ตาแก๋ง) เล่าถึงที่มาของแม่นมปริก(แม่นมของร.๕)กับยายปริกว่าเป็นคนละคนกัน ยายปริกเป็นแม่กำนันเงินซึ่งกำนันเงิน (คนที่ไปบูรณะที่ประทับพลับพลา ร.๕ ช่องเขาขาดจนเป็นที่รู้จัก)คือพ่อของตาแก๋งนั่นเองจึงเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ตอกย้ำกับที่ยายแต๋วซึงมียายชื่อแนบเป็นน้องสาวของยายปริก ยายแต๋วบอกว่ายายแนบเล่าให้ฟังตอนแกเป็นเด็กเรื่อง ชักลับซึ่งอยู่ในที่ดินของยายปริกว่าผีดุมาก บางวันชาวบ้านจะได้ยินเสียงปี่พิณพาทย์ดังลอยมาจนไม่มีใครกล้าเข้าไป จนวันที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนต้องหาที่หลบระเบิดจึงจำเป็นต้องหาถ้ำใหญ่เพื่อความปลอดภัยจึงใช้ถ้ำของไร่ยายปริกหลบระเบิด ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า "ถ้ำยายปริก "
เรื่องเล่าจากยายตุ๊(แม่รองป้อมฯ สหัส ถนอมศิริ) หลานขุนนครเขตเกษมศรี เมื่อตอนเด็กๆจะตามแม่เอาขนมไปขายในวัง ร.๕ ให้พวกทหารญี่ปุ่น บางทีก็จะแลกเอาน้ำมันตะเกียงมาไว้ใช้ ทหารญี่ปุ่นใจดีแต่ถ้าใครไปขโมยของจะยิงทิ้งทันทีที่จับได้ เมื่อก่อนจะไปปลูกกระท่อมแถวคลองเทียน(หาดทรายแก้ว) เพื่อรับจ้างขนทราย ชาวบ้านจะต้องมาหาบน้ำในวังไปใช้จึงเจอพวกญี่ปุ่นสะพายปืนยาวและมีดดาบยาวๆทุกวัน ยายตุ๊มีพ่อชื่อตาเล็ก(ตาเล็ก-ตาใหญ่) ลูกแฝดของขุนนครเขตฯ ตาเล็กคนนี้ได้เรียนหนักสือถึงอัสสัมชันบางรักที่กทม.เป็นคนมีความรู้ชอบสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆเกาะสีชัง ต่อมาได้เป็นนายด่านศุลกากรเกาะสีชัง เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 แกได้ออกไปตรวจเรือโยโย่ที่เกาะร้านดอกไม้เกิดมีเรือบินมาทิ้งระเบิดพวกญี่ปุ่นทำให้เรือจม โชคดีที่ตาเล็กปีนไปเกาะปลายเสากระโดงเรืออยู่จึงรอดตายจากเรือจม ชาวบ้านมองเห็นไกลๆจึงแจวเรือไปช่วยตาเล็กได้ทันก่อนเรือจม
น้าใบ ขี่รถสามล้อรับจ้าง เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่ช่องเขาขาดพึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ๆ น้าใบขับรถสามล้อมาจอดนอนรับลมที่ช่องเขาขาด ขณะกำลังเคลิ้มหลับ รู้สึกเหมือนเสียงรองเท้าคนกำลังเดินมากันหลายสิบคนจึงหรี่ตามองไปข้างรถที่ตัวเองนอนอยู่และเป็นจริงอย่างที่ว่า มีคนร่วมยี่สิบคนเดินเรียงแถวผ่านมาข้างรถ ชายเหล่านั้นไม่พูดคุยแต่งกายเต็มยศคล้ายทหารสะพายทั้งปืนยาวและมีดายไขว้หลังเดินผ่านลงไปทางทะเลช่องเขาขาด เมื่อลับตาจึงรวบรวมความกล้าเดินไปชะโงกดูปรากฏมีแต่ทะเลกับความว่างเปล่า คิดได้ดังนั้นจึงรีบเผ่นกลับบ้านอย่างไว พอเช้ากลับมาช่องเขาขาดมาดูอีกรอบและได้เล่าให้เราฟัง
ลุงจุก มาลีบลู ผู้เขียนเล่าจากประสบการณ์จริง เรื่อง ดาบซามูไรกับมังกรดำ เมื่อสิบกว่าปีก่อนอาศัยอยู่ชายหาดถ้ำพังสมัยยังไม่มีเตียงผ้าใบ หาดทรายยังกองพูนขาวสะอาดตา วันนั้นช่วงตอนเย็นได้ขี่มอเตอไซด์มาตลาดหาของกินที่สี่แยกท่าล่าง พลันสายตาเหลือบไปเห็นเด็กหนุ่มต่างถิ่นกำลังแอบมองเราซื้อซาลาเปาอยู่ ดูก็รู้ว่าคงหิวเลยถามไปว่ากินมั๊ยพร้อมยื่นให้เด็กคนนั้นแล้วถามไถ่ว่ามาจากไหนคืนนี้นอนที่ไหน สรุปว่ามาจากกรุงเทพฯไม่มีที่นอน ไม่มีตังค์ จึงชวนไปนอนที่ชายหาด ตกดึกเด็กเล่าให้ฟังว่า เค้าเรียนปวช.ปี2 นั่งรถเมล์มาจากกทม.เพราะมีคนพูดอยู่ในหัวบอกให้มาซึ่งเค้าก็ไม่รู้ว่าที่นี่คือที่ไหน เค้าก็ถามเราว่าเชื่อเรื่องระลึกชาติมั๊ย โดยเล่าให้ฟังว่า บางวันเค้าก็สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ทั้งที่ไม่เคยเรียน เค้าบอกว่าพ่อเค้าเป็นนายทหารญี่ปุ่นและเป็นคนที่บอกให้เค้ามาที่นี่เพื่อมาเอาของ 2 อย่างคือ ดาบซามูไรกับมังกรดำ เราเลยถามว่ามังกรดำคืออะไร เค้าบอกว่า มันคือแผ่นป้ายหินแกะสลัก ของสองสิ่งนี้อยู่ในถ้ำมีม่านน้ำบางๆไหลอยู่ เราก็คิดว่าไอ้นี่มันเพี้ยนแต่ก็คุยสนุกเหมือนคนปกติดี ประมาณตี 2 เด็กมองออกไปที่ชายหาดบอกว่าขอตัวไปคุยกับท่านพ่อก่อน ท่านมากับลูกน้อง จากนั้นเค้าก็เดินไปนั่งคุกเข่าพูดคนเดียวจับใจความไม่ได้คล้ายว่าเป็นภาษาญี่ปุ่น เราจึงคิดว่ามันอาการหนักแล้วจึงเข้านอน ก่อนฟ้าสว่างตื่นมาชงกาแฟพบเด็กนอนอยู่ที่เปลแขวนหน้าห้อง เด็กตื่นมาเหมือนคนปกติแถมเล่าให้ฟังถึงเรื่องเมื่อคืนอีกรอบ พอรุ่งเช้าเราจึงพาซ้อนมอเตอไซด์แกล้งขี่ไปยังทิศที่เด็กชี้ที่ซ่อนของ ซึ่งเป็นที่ในวังนั่นเอง(เด็กไม่รู้จักวังร.๕เพราะไม่เคยมา) ระหว่างขี่รถในวังเด็กบอกให้เลี้ยวกลับบอกเราขี่เลยไปแล้วพร้อมชี้ทางที่จะไป เรานึกในใจว่ามันรู้ได้ไงว่าตรงนั้นมีถ้ำ(ถ้ำเสาวภา) แถมยังบอกด้วยว่าในถ้ำมีลูกกรงเหล็กปิดอยู่ เออมันรู้จริงด้วย จึงออกอุบายว่าเดี๋ยวไปกินข้าวที่ตลาดกันก่อนเข้าถ้ำ ไปตลาดกินข้าวเสร็จเราพาไปท่าเรือบอกตำรวจที่ท่าเรือและกัปตันเรือถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราทุกคนช่วยกันออกตังค์ค่ารถบังคับให้เด็กกลับบ้านเดี๋ยวที่บ้านเป็นห่วงและหวังว่าคงจะไม่กลับมาทำให้หลอนอีก ภายหลังมีอาจารย์ลาดกระบังนำคณะมาที่วังคุณพ่อท่านเคยเป็นตำรวจดูแลเด็กดัดสันดานที่เกาะ แกรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ดีมากคนนึง จึงถามท่านว่ารู้จัก มังกรดำของญี่ปุ่นมั๊ย ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า มังกรดำคือองค์กรลับกู้ชาติของญี่ปุ่นซึ่งซ่อนตัวอยู่ทั่วเอเชียเป็นพวกซามูไรนักฆ่าคอยกำจัดศัตรูต่างชาติสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่น่าแปลกสมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตให้ทุกคนได้สืบค้นอะไรง่ายๆแต่เด็กคนนั้นรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร จวบจนมีอินเตอร์เน็ตใช้กันทั่วเราจึงสืบค้นและพบว่ามังกรดำนั้นมีอยู่จริง ชื่อว่า แก๊งมังกรดำ (ญี่ปุ่น: 黒竜会; โรมาจิ: Kokuryūkai อังกฤษ: Black Dragon Society) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2444 โดยเรียวเฮ อูจิดะ โดยตั้งชื่อจากชื่อแม่น้ำอามูร์หรือแม่น้ำเฮย์หลงในประเทศจีน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
เกาะสีชังกับความรุ่งเรืองในอดีต
ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข
หาดทรายแก้วสถานที่พักผ่อนของชาวต่างชาติ
เรือใบบรรทุกสินค้าของเกาะสีชัง
รถยนต์บรรทุกขนส่งสินค้า(สะพานอัษฏางค์)
บาร์เต้นรำแห่งแรกกลางทะเลเกาะสีชัง..บำเหน็จพันธ์ุบาร์
เซเว่นอีเลเว่นสี่แยกท่าล่างอดีตเป็นบาร์ฝรั่งมีผู้หญิงเต้นรำ ชื่อว่า "บำเหน็จพันธ์บาร์" เจ้าาของชื่อลุงช่วง และฝั่งตรงข้ามจะมีร้านเหล้าชิล ชิล ชื่อว่า "หลีบาร์" เป็นที่รวมของคนเดินเรือทะเลทั่วโลกที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทย หลังนั่งดื่มกันแล้วก็จะย้ายไปต่อกันที่บาร์ เต้นรำ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีร่วมร้อยปีที่ผ่านมาของเกาะสีชัง ต่อมาชุมชนย่านท่าบนได้เปิดโรงฝิ่น(ไม่ขอเอ่ยนาม)ผู้คนจึงเริ่มมีการค้าขายมากขึ้น บาร์เหล้ามีอันต้องย้ายตามไปตั้งอยู่ปลายสะพานที่บ้านลุงอ่างปัจจุบัน เป็นยุคที่ท่าบนรุ่งเรืองมาก
ขุนนครเขตเกษมศรี
ขุนนครเขตเกษมศรี นายตำรวจผู้ปกครองโรงเรียนดัดสันดานบนเกาะสีชังและท่านเป็นแพทย์ประจำตำบลด้วยเนื่องจากมีวิชาความรู้ทางแพทย์แผนไทย เดิมชื่อ "นายฉ่ำ" จอมขมังเวทย์นายตำรวจมือดีที่มาประจำที่เกาะไผ่ก่อนที่จะถูกส่งมาประจำที่เกาะสีชังและได้รับพระราชทานนามสกุลว่า " ตินตะบุระ" ปัจจุบันมีลูกหลานสืบทอดกันมาบนเกาะแห่งนี้และต่อมาทางแขวงสมุทรปราการได้ส่งขุนศรีชะรัง นายตำรวจมาประจำอยู่ที่เกาะโดยใช้บ้านยายตุ๊แม่รองป้อมปัจจุบันเป็นที่ว่าความตัดสินคดี
นายร้อยตำรวจตรี ฉ่ำ มีภรรยาชื่อคุณนายหงษ์หรือบางก็เรียกคุณนายฮง มีลูกแฝดชื่อตาเล็ก-ตาใหญ่ ปลูกบ้านอยู่บริเวณเนินเจ้าคุณ (ปัจจุบันคือบริเวณตรงข้ามบ่อน้ำหมู่ที่ 3 ด้านหลังคืออนามัยเก่าไปจนถึงร้านกาแฟฟลาวเวอร์บลู) ยายวิวาห์ บัวเผือก(ยายแหว๋ว) เล่าให้ฟังว่าเกิดที่ตรงเนินเจ้าคุณ สมัยสาวๆแถวนี้ไม่ค่อยมีใครกล้าเดินผ่านโดยเฉพาะต้นโพธิ์ใหญ่(หน้าประตูตำรวจน้ำปัจจุบัน) เค้าว่าผีดุนักเชียว
ตาเล็ก-ตาใหญ่ ฝาแฝดลูกขุนนครเขต
หนังสือพระราชทานนามสกุลแก่ขุนนครเขต ต้นตระกูล"ตินตะบุระ"
ตาเล็ก..เป็นพ่อยายตุ๊แม่ของรองฯป้อม สหัส ถนอมศิริ ตาเล็กแกเรียนจบอัสสัมชัญบางรักทำงานอยู่ที่ด่านศุลกากรเกาะสีชัง มีเรื่องเล่าว่าเมื่อคราวเรือโยโย่เรือบรรทุกสินค้าของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกเรือบินพันธมิตรทิ้งระเบิดจนจมไปเกือบมิดลำที่เกาะร้านดอกไม้ เวลานั้นตาเล็กได้ลงเรือไปตรวจสินค้าที่เรือลำนั้นด้วย แต่เดชะบุญรอดตายจากระเบิดโดยปีนขึ้นบนยอดเสากระโดงเรือร้องให้คนช่วย ชาวบ้านเห็นแต่ไกลๆว่ามีคนรอดชีวิตเกาะเสากระโดงเรืออยู่จึงแจวเรือไปช่วยกันรับขึ้นเกาะมาทำให้รอดชีวิต
ตาใหญ่..เป็นพ่อกำนันแขก นายสายันณ์ ตินตระบุระ กำนันตำบลเกาะสีชังในอดีตและหมอตุ่ม(หญิง) ซึ่งได้ตำรายาแผนโบราณจากขุนนครซึ่งหายากมาก เล่ากันว่าตำรายาน่าจำนำไปไว้ที่เกาะล้านจนถึงทุกวันนี้ ปล.ขอสืบค้นอีกทีว่าหมอตุ่มแกเป็นลูกหรือหลานหรือหลานสะใภ้ของขุนนครเขตอีกที
ลุงสีชัง..เจ้าของตำนานเฒ่าทะเลเกาะสีชัง ผู้ที่อาศัยท้องทะเลและเรือลำน้อยเป็นบ้านมีเพื่อนเป็นหนูและแมลงสาบ(อันนี้เห็นกับตาว่าแกเรียกให้ออกมากินข้าวกับแกบนเรือที่จอดในท่าวังได้) ลุงสีชังเป็นลูกครูลำดวนซึ่งเป็นพี่สาวของหมอตุ่ม
ตาหวอ..ญาติหมอตุ่ม แกเป็นคนร่างสูงใหญ่ไว้หนวดเคราน่ากลัวแต่ใจดีมีอาชีพแกะสลักพระพุทธรูปขายส่งฝั่ง เล่ากันว่าแกมีคาถาอาคมทางเดรฉานวิชาเลี้ยงผี จนมีเรื่องเล่าต่อกันมาเรื่องคอกตาหวอ(คอกหมายถึงที่จอดเรือ) มีเด็กไปเล่นน้ำแล้วถูกผีเด็กฉุดจมน้ำตายบ้าง พ่อจอดซ่อมเรือลูกเล่นอยู่อีกข้างของเรือมาดูอีกทีเด็กหายจนต้องให้ตาหวอมาร่ายอาคมสุดท้ายเด็กนั่งอยู่ที่เดิมและบอกว่ามีเพื่อนมาชวนนั่งเล่นและจะชวนกันพาไปเล่นน้ำ
แสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อนคาถาอาคมมีอยู่จริงและชุมชนยังต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้อยู่
โรงเรียนบนเกาะสีชัง
โรงเรียนเสาวภา สร้างในสมัยร.๕ เพื่อให้เด็กเกาะสีชังและลูกข้าราชบริพารได้มีการศึกษาเป็นโรงเรียนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงวางรากฐานการศึกษาไว้ให้แก่ชาวเกาะสีชังเป็นสำคัญ
โรงเรียนดัดสันดานเกาะสีชัง ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2540 มีลักษณะ “เป็นคุกครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนครึ่งหนึ่ง” ทำหน้าที่ควบคุมและดัดสันดานเด็กเกเร และเด็กเร่ร่อน ที่คึกคะนองและสร้างความวุ่นวายในสังคมเมืองที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นโจร จัดตั้งขึ้นเพื่อควบคุมผู้กระทำผิดซึ่งมีอายุระหว่าง 10-16 ปี อยู่ในความดูแลของกรมตำรวจ
“โรงเรียนเชลยศักดิ์” เป็นคำเรียกโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งขึ้นระยะแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เกร็ดความรู้ ..โรงเรียนดัดสันดาน VS. โรงเรียนดัดจริต ความแตกต่างจนสุดขั้ว “โรงเรียนดัดจริต” ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพ ตั้งอยู่ในวัดราชผาติการาม คำว่า “ดัดจริต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า “แสร้งทำกิริยาหรือวาจาให้เกินควร” อบรมให้นักเรียนมีมารยาทมีความเป็นผู้ดี จากบันทึก...30 มกราคม พ.ศ. 2452 “พระสรรพการหิรัญกิจ ผู้อุปการะโรงเรียนดัดจริต ให้ฟุตบอล์หนึ่งลูก ราคา 5 บาท เปนสมบัติแก่โรงเรียนดัดจริต ครูใหญ่โรงเรียนดัดจริตได้รับไว้แล้ว” หมายความว่ากีฬาฟุตบอลเริ่มมีในเมืองไทยตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5
เรือสำเภาบรรทุกหินเกาะสีชัง
เรือสำเภาของเกาะสีชัง ปัจจุบันยังพบซากเรืออยู่บริเวณร่องน้ำคลองเทียนเหนือ(แหลมงู)
เกาะสีชังต้นกำเนิดกองโบราณคดีใต้น้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้มีการสำรวจพื้นที่อ่าวไทยทางตะวันตกของเกาะสีชัง ตามคำบอกเล่าของชาวประมง พบแหล่งเรือจมสองบริเวณด้วยกันให้ชื่อว่า แหล่งเรือสีชัง ๑ และแหล่งเรือสีชัง ๒ จมอยู่ห่างกันประมาณ ๒ กิโลเมตร
- แหล่งเรือสีชัง ๑ อยู่ห่างจากเกาะสีชังไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร พบเปลือกเรือและไม้โครงสร้างเรือโผล่อยู่เหนือพื้นทราย พบโบราณวัตถุที่น่าสนใจได้แก่เครื่องถ้วยลายครามจีนคุณภาพดี เตาเชิงกรานแบบอยุธยา หม้อหุงต้ม อ่างขนาดต่าง ๆ กาน้ำแบบมอระกู่ ชิ้นส่วนเคื่องเงินพื้นสีดำลอยลายมังกร จุกไม้ปิดฝาไห ฯลฯ
- แหล่งเรือสีชัง ๒ ตัวเรือและบริเวณรอบ ๆ และหลักฐานที่โผล่เหนือพื้นทรายถูกอวนลากของชาวสประมงกวาดติดไปหมด วัตถุที่พบเป็นเครื่องสังคโลกลายปลา ลายพันธุ์พฤกษาจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย และเครื่องเคลือบเซราค่อนของแหล่งเตาหลงฉวน และพบเหรียญจีนสมัยราชวงศ์หมิง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
- แหล่งเรือสีชัง ๓ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ จมอยู่ใต้ทะเลในระดับความลึกประมาณ ๒๔ เมตร โบราณวัตถุที่พบในเรือส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาประเภทไหสี หูเคลือบสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี รวมทั้งไหปากกว้างขนาดย่อม และขวดปากแบนขนาดเล็ก ไหดังกล่าวเป็นภาชนะบรรจุสินค้าประเภทไข่ ยางสน (ผงชัน) เครื่องถ้วยที่ผลิตจากแหล่งเตาในมณฑลทางใต้ของจีนและในเวียดนามมีพบอยู่บ้าง
ตำนานผานางร้องไห้
ตำนานผานางร้องไห้ ณ ช่องเขาขาด ซึ่งชาวเรือมักจะเรียกกันว่า หลังเกาะ มีหน้าผาสูงชัน หน้าผานี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า กาลครั้งหนึ่งมีหนุ่มสาวชาวเกาะคู่หนึ่งรักใคร่กันเมื่อถึงเวลาข้างขึ้นเดือนหงาย หนุ่มสาวคู่นี้จะพากันไปชมพระจันทร์ที่ชายหาดเป็นประจำ ต่อมาฝ่ายชายหนุ่มถูกเกณฑ์ไปรับราชการเป็นทหารเรือ ได้สั่งเสียคนรักว่าหากคิดถึงก็ให้มานั่งชมจันทร์ที่ชายหาด เมื่อชายหนุ่มจากไปแล้วฝ่ายหญิงก็ถือปฎิบัติเป็นประจำ เมื่อฝ่ายชายหนุ่มปลดประจำการแล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะกลับมานาง เมื่อสอบถามเพื่อนฝูงของชายคนรักก็ได้ความว่า ชายคนรักไปหลงรักกับสาวชาวบ้านศรีราชา แต่นางก็ยังคงซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อคนรักไม่เสื่อมคลาย เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี ความหวังของนางก็กลายเป็นความชอกช้ำ นางจึงได้ตัดสินใจกระโดดหน้าผาตาย ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงยามข้าขึ้นเดือนหงาย ชาวเกาะสีชังจึงมักจะได้ยินเสียงโหยไห้คร่ำครวญของหญิงสาวจากหน้าผาเขาขาด ชาวบ้านจึงเรียกหน้าผาแห่งนี้ว่า ผานางร้องไห้
เรื่องเล่าจากเจ้าพ่อเขาใหญ่จากประสบการณ์จริงของผู้เขียน
สมัยนายอำเภอศิรัษฎ์ ประสพเนตร นายอำเภอเกาะสีชังได้จัดสร้างถ้ำจำลององค์เจ้าพ่อเขาใหญ่ที่งานกาชาดจังหวัดชลบุรีโดยมีการอัญเชิญอง๕์เจ้าพ่อเขาใหญ่จำลองไปไว้ที่ถ้ำในงานให้คนมากราบไหว้ ผู้เขียนรับหน้าที่จัดสร้างถ้ำพร้อมทีมงานอาร์ตจากคุณเอก เอี่ยมชื่น (องค์บาก) มาช่วยสร้างถ้ำและองค์เจ้าพ่อองค์ใหญ่ให้เสมือนจริง ซินแสได้กำชับเรื่องการอัญเชิญเจ้าพ่อต้องเป็นคนที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะคือนายอำเภอเท่านั้น แต่เมื่อถึงวันจริงจังหวัดได้เรียกนายอำเภอประชุมด่วน ท่านจึงได้สั่งการให้นำมากันเองได้เลยโดยท่านและกำนันตุ๊กตาจะมารอรับที่ท่าเรือเกาะลอย เมื่อได้เวลาผมและลุงเนาว์ ประธานสภาและดูแลศาลเจ้าพ่อจึงได้มารอเรือเทศบาลที่ไปส่งคณะของกองช่างที่มาสำรวจเกาะขามจำนวน 17 คน(มีขนาดเรือบรรทุกไม่เกิน 17 คน) เรายังบ่นเลยว่าบรรทุกมากันเพียบน้ำเลย หลังจากที่เรือมาแล้วทางศาลเจ้าพ่อนำโดยพี่ยุทธเด็กถ้ำและลูกน้องอีกคนได้นำองค์เจ้าพ่อจำลองและโต๊ะประทับองค์เจ้าพ่อมาขึ้นเรือ
เราไปกันทั้งหมด 8 คนซึ่งน้อยมากๆกับขนาดบรรทุก พอเรือติดเครื่องเกิดควันโขมงทั้งที่เป็นเรือพึ่งต่อมาใหม่เครื่องเร่งไม่ขึ้น เราจึงบอกคนขับเรือว่าสให้ไปเช็คเรือก่อนเดี๋ยวเปลี่ยนไปลำอื่นได้ แต่คนขับบอกไปได้จึงเร่งเครื่องออกเดินทาง เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้นน้ำควันดำแต่ยังฝืนวื่งไปจนมองเห็นฝั่งศรีราชาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ทันใดนั้นหัวเรือซึ่งประทับองค์เจ้าพ่อได้จมมุดน้ำลงดื้อๆจนน้ำเข้าเรือท่วมหน้าแข้ง พี่ยุทธจึงอุ้มเจ้าพ่อมาท้ายเรือแต่ท้ายเรือกลับจมแทน เราสั่งให้ทุกคนตั้งสตินั่งนิ่งๆ ถามไถ่ว่าใครว่าน้ำไม่เป็นหาเสื้อชูชีพให้ใส่ ส่วนใครไม่มีให้ถือกระป๋องน้ำเตรียมไว้ จากนั้นค่อยๆประคองเรือไปใกล้ฝั่ง พวกรถตุ๊ก ตุ๊กสังเกตุเห็นความผิดปกติจึงแจ้งนายอำเภอที่รอรับอยู่ท่าเรือพร้อมช่วยกันแยกเรือใหญ่สองลำให้เป็นช่องว่างให้เรือเราเข้าไปเสียบกลางเพื่อเอาเชือกมาผูกเรือหิ้วไว้ไม่ให้จม เราประคองเรือมาจนถึงฝั่งได้สำเร็จด้วยความตื่นเต้นลุ้นตลอด 1 กิโลเมตร เมื่ออัญเชิญเจ้าพ่อไปถึงถ้ำที่ชลบุรี ผมได้กลับมาที่ท่าเรือเกาะลอยเพื่อกลับเกาะ ปรากฏว่าเรือเร็วที่เราคิดว่ารั่ว สรุปคือเป็นปกติไม่มีรอยรั่วหรือเสียหายพาเราสองคนวิ่งกลับเกาะฉิวพานายอำเภอมาศาลเจ้าพ่อเพื่อมาขอขมากับสิ่งที่ล่วงเกิน ในวันแห่ลูกชายกำนันตุ๊กตา(ปัจจุบันได้เป็นกำนันแทนแม่) ได้รับหน้าที่นำองค์เจ้าพ่อไปขึ้นรถแห่รอบเมืองชลบุรีแต่เนื่องจากอยู่ไกลและรถก็ติดจึงใช้วิธีนั่งมอไซด์รับจ้างอุ้มไปจะได้รวดเร็ว ปรากฏฝนตกพรำๆและรถสตาร์ทไม่ติดเอาดื้อๆจึงต้องอุ้มวิ่งไปให้ทันขบวนรถ หลังจากนั้นมาทราบจากมอเตอไซด์รับจ้างว่าพอไปลับตาแล้วเค้าสตาร์ทรถติดเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในส่วนของเด็กทีมอาร์ตเมื่อรับค่าแรงตอนสายๆเตรียมเก็บของกลับบางพลีแต่เนื่องจากของมีจำนวนมากจึงเสร็จดึกจึงต้องรอถึงเที่ยงอีกวันรถถึงจะมารับ เค้านอนรวมกันในถ้ำที่สร้าง กลางคืนมีคนฝันเห็นชายแก่คนจีนมีหนวดเคราสีขาวยาวๆมาให้เห็นลักษณะตรงกันมีคนฝันเห็นพร้อมกันถึง 4 คน แกมายืนยิ้มให้และบอกให้ไปซื้อหวย 2 ตัวเลขเหมือนกันทั้ง 4 คน เช้ามาทุกคนคุยเรื่องนี้กันจึงตกลงกันว่าเงินส่วนที่เหลือที่เก็บไว้จัดเลี้ยงที่แค้มป์บางพลีตกลงให้ไปซื้อหวยทั้งหมด ส่วนใครจะซื้อเพิ่มก็ให้ใช้เงินส่วนตัว หลังจากกลับไปวันเดียวก็เป็นวันหวยออกปรากฏหวยออกเลขตรงๆตามฝันเป็นเงินร่วมสามแสนบาทจึงได้แบ่งกันและนำเงินที่เหลือกลับมาเกาะสีชังเพื่อมาถวายเจ้าพ่อเขาใหญ่พร้อมทั้งเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ผมได้รับฟัง
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ แห่งเกาะสีชัง ชลบุรี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดตามธรรมชาติมีอายุหลายหมื่นปี จากจารึกภาษาจีนโบราณที่นายอุ้งเซ็ง แซ่อึ้ง ภาษาแต้จิ๋ว หรือนายยุ่นเซิ้ง เซิ้นหวง ภาษาจีนกลาง ชาวอำเภอบุงเชียง จังหวัดไหหลำเกาะไหหลำ ประเทศจีน เป็นผู้จารึกไว้ในไม้สักเก่าแก่ราว ปีพ.ศ.2426 ราว 127 ปีมาแล้ว ซึ่งขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่เกาะสีชัง ซินแส ผู้สูงอายุที่มาทำหน้าที่เป็นเสมียนจีนในเทศกาลไหว้เจ้าได้แปลไว้ว่าขณะที่มาจอดทอดสมอเรืออยู่หน้าเกาะได้เห็นแสงไฟอยู่บนเขาจึงได้ปีนขึ้นไปดู พบรูปหินย้อยลักษณะเหมือนศรีษะคนตรงตามตำราจีนว่าเป็นรูปเจ้าพ่อที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ อยู่ในถ้ำในเขากลางทะเลและหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีน้ำอยู่ ข้างหน้าตามที่ชาวจีนโบราณเชื่อถือว่า “เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มหัศจรรย์”ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่บนเขาคยาศิระ ในช่วงตรุษจีนจะมีผู้คนมาบวงสรวงสักการะเนืองแน่นด้วยความเชื่อว่าจะทำให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง เชื่อกันว่า ใครได้ไปกราบไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ ปี จะได้โชคลาภอันวิเศษโดยเฉพาะชาวจีนที่เดินเรือจะให้ความเคารพนับถือมาก เพราะทุกครั้งที่เรือเกิดอุบัติเหตุรั่วน้ำเข้าเรือ ทุกคนก็จะบนเจ้าพ่อเขาใหญ่ ให้ช่วยเพื่อมิให้เรือต้องอัปปางกลางทะเล ปรากฎว่ามีแมงกะพรุนลอยมาปะที่รูรั่วทำให้น้ำหยุดไหลทันที่เมื่อมาเดินทางมาถึงเกาะสีชังก็จะนำเรือเข้าเกยตื้นและทำการอุดรูรั่ว ความศักดิ์สิทธิ์นี้เองจึงทำให้เจ้าพ่อเป็นที่นับถือของผู้คนทั่วสารทิศทุกปีจะมีคนมาไหว้เป็นจำนวนมาก
อ่าวจ๊อกค๊อก
อ่าวจ๊อกค็อกมีปรากฎในแผนที่ของนาวาโทอัลเฟรด เจ ลอฟตัส ที่มาสำรวจเกาะสีชังในปี พ.ศ. 2428 ส่วนชื่ออ่าวนั้นมีที่มาจากเรื่องเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสามีภรรยาคู่หนึ่งชื่อ นายจี และนางส่ง อพยพมาอาศัยที่เกาะสีชัง โดยทำการเกษตรปลูกทับทิมและน้อยหน่าบริเวณอ่าวนี้ ซึ่งในบริเวณก็มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมากเมื่อหิวจะลงกินผลไม้ที่ไร่ของนายจีและนางส่ง โดยส่งเสียงร้อง “เจี๊ยกค๊อกๆ” ดังไปทั่วอ่าว จึงสันนิษฐานว่าชื้ออ่าวนี้เรียกตามเสียงร้องของลิง เป็นชื่ออ่าวว่า “จ๊อกค๊อก” ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกจุดของเกาะสีชังและสามารถมองเห็นอัษฎางค์ประภาคารบนเกาะสัมปันยื้อได้ชัดเจน
ศิลาจารึกกับประสบการณ์จริง
ศิลาจารึกของรัชกาลที่ ๕ ยายแต๋วเล่าว่า แต่ก่อนอยู่ที่ริมถนนในที่ดินยายแต๋วใกล้ต้นมะขามข้างสนามบอลปัจจุบันยังเห็นหลุมที่ชาวบ้านมาช่วยกันขุดย้ายมาตรงที่อยู่ปัจจุบันอยู่เลย มีเรื่องเล่าว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนร้านจ่าเล็กข้างสนามบอลได้จัดงานเลี้ยงแต่งงานมีคนจากฝั่งมาร่วมงานเกือบร้อยคน มีคนในงานเลี้ยงไปพบชายวัยรุ่นคนนึงที่มาจากฝั่งเป็นแขกในงานเลี้ยงได้ไปฉี่รดใส่ศิลาจารึกทำให้ตัวติดกับก้อนหินไม่สามารถดึงออกได้ ผู้เขียนเวลานั้นอาศัยเปิดร้านกาแฟอยู่ช่องเขาขาด ได้มีตานอมคนขับรถขยะเทศบาลได้มาตามให้ไปช่วยชายดังกล่าวซึ่งตัวคิดอยู่กับก้อนหิน ขณะนั้นมีพระภิกษุได้มาเปิดค่ายสอนธรรมมะที่โรงเรียนเกาะสีชังจึงได้ไปนิมนต์ท่านมาจุดธูปสวดมนต์ขอขมาสิ่งศักสิทธิ์ ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากขอขมาเสร็จชายหนุ่มก็หลุดออกมาจากก้อนหินเองโดยไม่ต้องช่วยกันดึงอีกแบบง่ายดาย ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าสิ่งลี้ลับนั้นมีจริงเห็นกับตา พอเช้าตรู่ได้ขับรถออกไปซื้อกับข้าวสายตาเหลือบไปเห็นกลุ่มควันโขมงที่ศิลาจารึกจึงไปจอดรถดูใกล้ๆจึงพบว่า หวยอยู่คู่กับคนไทยจริงๆ ศิลาจารึกที่เคยถูกทิ้งร้างมาวันนี้กลับถูกละเลงเต็มไปด้วยแป้งรายล้อมไปด้วยธูปเทียนและดอกไม้จนเต็มศาลา
วันข้าวมันส้มตำ
ข้าวมันส้มตำถูกอธิบายว่าเป็นอาหาร “ไทยแท้แต่โบราณ” ดังมีปรากฏในตำรับเยาวภา ตำราอาหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 เป็นชุดข้าวมัน กินกับส้มตำที่ใส่กุ้งแห้งและถั่วลิสงคั่วป่น ข้าวมันใช้ข้าวสารเก่าหุงด้วยหางกะทิแทนน้ำ ปรุงเค็มด้วยเกลือ บางครั้งอาจใส่ใบเตยมัดลงหุงไปด้วยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ส้มตำใช้ครกและสากไม้ ตำพริกแห้งเม็ดใหญ่ที่ผ่าแคะเมล็ดและไส้ออก แช่น้ำจนนุ่ม หั่นฝอย กับกระเทียมและพริกขี้หนูสวนหรือพริกจินดาพอหยาบๆ ใส่มะละกอดิบหรือค่อนข้างห่ามสับเป็นเส้นเล็กๆ และมะเขือเทศผ่าชิ้นใหญ่ ตำต่อให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำคั้นมะขามเปียก และน้ำมะนาวเล็กน้อยเพื่อให้รสเปรี้ยวแหลม (บางคนชอบกลิ่นผิวมะนาว อาจฝานเสี้ยวหรือหั่นทั้งเปลือกเป็นชิ้นขนาดลูกเต๋าคลุกในตอนท้ายก็ได้) ตักใส่จาน โรยกุ้งแห้ง เป็นเสร็จพิธี
พิธีตีไอ้เมฆอีหมอก เกิดฟ้าฝนแล้งบนเกาะสีชังและก่อนหน้านั้นได้มีศพชายหญิงลอยน้ำมาเกยบนหาดโดยชาวบ้านอาจเป็นสาเหตุทำให้ฝนแล้งเพราะไม่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทั้งสอง จึงได้จัดพิธีขอฝนขึ้นและตั้งชื่อชายหญิงที่ตายลอยน้ำมาว่าไอ้เมฆกับอีหมอก โดยปั้นขึ้นมาจากทรายชายหาดหน้าศาลศรีชโลธรเทพ เชื่อกันว่าต้องปั้นชายหญิงให้อุจาดตาให้มากที่สุดเป็นการประชดเทวดาฟ้าดินที่ไม่ช่วยดูแลฝนฟ้าให้ตกตามฤดูกาล
ตาแก๋งเล่าว่า เมื่อยังเด็กยายเคยเล่าให้ฟังว่า ขุนนครเขตฯท่านเป็นผู้นำเอาเด็กดัดสันดานมาร่วมทำพิธีโดยให้แต่งกายเป็นผีป่าผีทะเลที่ชาวบ้านเรียกลงมากินอาหารคาวหวานให้อิ่มหนำสำราญจากนั้นก็จะไล่ลงทะเลไปไม่ให้มาทำร้ายรบกวนคนเกาะสีชัง
พิธีตีไอ้เมฆอีหมอกจะมีทุกวันที่ 19 เมษายน.หน้าศาลศรีชโลธรเทพ โดยชาวบ้านจะมาทำพิธีกองข้าวที่ชายทะเลเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าป่าเจ้าเขาผีทะเลให้มาปกปักรักษาคนเกาะให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยนำอาหารใส่กระทงใบตองไปวางรวมกันเพื่อเซ่นไหว้มีชาวบ้านไปร่ายรำรอบกองข้าว(อาหาร)บนผืนทรายริมทะเล เมื่อใกล้เสร็จพิธีชาวบ้านก็จะเปล่งเสียงร้องคร่ำครวญบนรูปปั้นทรายชายหญิงว่า " คิดถึงก็คิดถึงแต่พวกเจ้าตายไปแล้ว ต้องไปเกิดใหม่เสีย " พร้อมทั้งเอาไม้ไล่ตีผีป่าผีทะเลกลับลงทะเลไปและทำลายรูปปั้นนั้นเสียเพื่อให้ได้ไปเกิดใหม่
พิธีลอยเรือปล่อยเคราะห์
เกาะสีชังจะจัดพิธีหลังการทำบุญพระเจดีย์ทรายในช่วงเช้า โดยมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และชาวบ้านจะนำสิ่งของที่ไม่ดีพร้อมทั้งเงินทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับ พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์พร้อมเดินนำหน้าโดยมีชาวบ้านแบกเรือแห่กันไปนำลงทะเลเพื่อนำเคราะห์โศกและสิ่งไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้นลงไปกับเรือลอยออกสู่ทะเล
แผนที่เที่ยวรอบเกาะสีชัง
การเดินทาง
ข้อมูลสถานที่
ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
เจ้าพ่อเขาใหญ่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากหินงอกหินย้อยตามธรรมชาติรูปร่างคล้ายคน เล่ากันว่าเจ้าพ่ออาศัยอยู่ในถ้ำที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีน้ำอยู่ด้านหน้าซึ่งเป็นตำแหน่งมงคลตามตำราฮวงจุ้ย ประเพณีจีนถือว่าการไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ในช่วงตรุษจีนนั้นเชื่อว่าจะป้องกันภยันตรายต่างๆและนำโชคลาภมาให้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมากราบไหว้ขอพรและประสบผลสำเร็จอยู่บ่อยครั้ง
รอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทเก่าแก่โบราณแห่งหนึ่งของเมืองไทยสร้างในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์กว้างไกลในมุมสูงที่สวยงามที่สุดของเกาะสีชัง
ศิลาจารึก รัชกาลที่5
หลักศิลาจารึกที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงจารึกเรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จมาประทับที่เกาะสีชังในช่วงเวลาต่างๆ ทำให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงประทับใจในเกาะแห่งนี้มากจึงได้เสด็จมาประทับคราวละหลายๆเดือน ทรงสร้างสิ่งก่อสร้างไว้ทั่วเกาะ ใช้เป็นสถานที่ตากอากาศ เรือนพยาบาลรักษาโรคภัยไขเจ็บ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองตลอดจนการว่าราชการบ้านเมืองอยู่ที่เกาะแห่งนี้จนเปรียบได้ว่าเป็นพระราชวังแห่งที่สองก็ไม่ผิด ซึ่งเราจะรับรู้ถึงความเป็นไปของพระองค์รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อเกาะสีชังได้จากศิลาจารึกแห่งนี้
ต้นเลียบประวิช
ต้นเลียบประวิชหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นเลียบคู่ไขว้กันจนเกิดเป็นซุ้มประตูสู่อัษฎางคะวัน (วะนะในเขตพระราชฐาน) รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตั้งชื่อต้นเลียบนี้ตามพระนามของหม่อมเจ้าประวิช ต้นเลียบนี้เป็นไม้ใหญ่ที่มีอายุยาวนานมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นต้นไม้คุ้มครอง 1 ใน 88 ต้นทั่วประเทศไทย (รุกข มรดกของแผ่นดิน ปี 62)
ถ้ำจักรพงษ์
“ถ้ำจักรพงษ์” เป็นถ้ำเล็กๆที่มีบันไดทางเดินในถ้ำสู่ด้านบนของยอดเขา ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พบหลักฐานรอยจารึกชื่อไว้ที่ปากถ้ำ ทรงใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงทอดพระเนตรงานก่อสร้างพระราชฐานทั่วเกาะ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวแวะมายังถ้ำจักรพงษ์เพื่อมาเยี่ยมชมหลวงพ่อโต ก้อนหินสีดำที่นำมาจากเกาะมารวิชัยจากนิมิตของพระอาจารย์รูปหนึ่งที่ชาวบ้านนับถือ ลักษณะคล้ายแร่หินเกาะล้าน หินนี้ได้ค่อยๆใหญ่ขึ้นมาเองจนเป็นที่ประหลาดใจ ชาวบ้านเกิดความเชื่อจึงมากราบไหว้ขอโชคลาภกันและมักเดินเข้าถ้ำขึ้นไปชมทัศนียภาพที่สวยงามของเกาะสีชัง
พระจุฑาธุชราชฐาน
พระจุฑาธุชราชฐานเป็นพระราชวังฤดูร้อนที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลแห่งเดียวในประเทศไทย เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อไว้ใช้เป็นที่ประทับของราชวงศ์ในอดีต ที่เเห่งนี้มีหาดทรายและมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม ปัจจุบันมีอาคารคงเหลืออยู่ 5 หลังได้แก่ เรือนไม้ริมทะเล เรือนวัฒนา เรือนผ่องศรี เรือนอภิรมย์ และพระอุโบสถของวัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชังคือพระราชวังแห่งที่สองของรัชกาลที่5 ที่ใช้ว่าราชการหรือรับแขกบ้านแขกเมือง โดยที่พระองค์ได้สร้างทรงพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ซึ่งเป็นพระราชวังไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อ่านต่อ
อีกหนึ่งสถานที่ที่ห้ามพลาดคือ สะพานอัษฎางค์ สะพานไม้สักสีขาวใช้เป็นท่าเทียบเรือในสมัยก่อน ถือเป็น “อัญมณีแห่งทะเลตะวันออก” ที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังของรัชกาลที่ 5 และที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นที่คอยส่งเสบียงไปช่วยรบทั่วสงครามมหาเอเซียบูรพา จึงมักเกิดการสู้รบทางอากาศกับฝ่ายพันธมิตรที่นี่บ่อยครั้ง จนเป็นที่มาของเรื่องเล่ามากมาย เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ต่อมาพระราชวังแห่งนี้ถูกใช้เป็น ”โรงเรียนดัดสันดาน” เพื่อคุมขังและอบรมเด็กที่กระทำผิดทั่วประเทศ โดยมีขุนนครเขต นายตำรวจมือดีเป็นผู้ควบคุม เล่ากันว่า ท่านมีคาถาอาคมยิงฟันไม่เข้าถือว่าเป็นจอมขมังเวทย์ในยุคนั้น ท่านมีภรรยาหลายคนและลูกหลานของท่านก็อาศัยอยู่บนเกาะสีชังทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตแล้ว หนึ่งท่านในนั้นคือ “ลุงสีชัง” ตำนานแห่งท้องทะเลที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือจนวาระสุดท้ายที่เกาะสีชัง
หินระฆัง
หินระฆังตั้งอยู่ในพระจุฑาธุชราชฐานหินระฆังไม่ใช่หินที่รูปร่างคล้ายระฆังแต่เป็นหินที่ถ้าเราเอาหินอีกก้อนไปทุบจะมีเสียงกังวานคล้ายระฆัง ซึ่งนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หาได้ยากและมักเกิดความเชื่อว่าใครได้มาเคาะหินระฆังขอโชคลาภเสียงระฆังจะดังไปไกลถึงสรวงสวรรค์ เนื่องจากเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่พระเจ้าประทานมาให้
เเหลมจักรพงษ์ (ถ้ำทะลุ)
แหลมจักรพงษ์ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาตกหมึกตกปลาเเละชมพระอาทิตย์ตกยามเย็นมีลานทุ่งหญ้าสุดปลายแหลมริมทะเลและมีชะง่อนผายื่นในมุมถ่ายรูปที่สวยงาม ถ้ำทะลุ จุดเช็คอินท์ยอดนิยมเกิดจากช่องหลืบซอกหินริมทะเลที่มีลวดลายของหน้าผาหินตามธรรมชาติที่งดงามเหมาะกับการถ่ายรูปที่ลงตัวมาก ส่วนภายในถ้ำจะมีปล่องช่องแสงและลวดลายผนังถ้ำที่สวยงาม เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “ปืนใหญ่จอมสลัด” ในอดีตถ้ำแห่งนี้ชาวประมงมักจะใช้เป็นที่หลบพักยามเมื่อเกิดลมพายุ
ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชังในพระราชูปถัมภ์
ศูนย์การเรียนรู้ที่อยู่ติดทะเลหลังสถานีตำรวจน้ำเกาะสีชังเป็นสถานที่ที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ทะเลพื้นถิ่น ภายในเป็นธนาคารปูม้าที่ใหญ่ระดับประเทศและเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ปลาฉลามกบที่ใหญ่ที่สุดและอนุบาลสัตว์ทะเลไม่ว่าจะเป็นปะการังอ่อน เต่า ปลากระเบน หอย และอื่นๆอีกมากมายเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล อ่านต่อ
อ่าวอัษฏางค์
อ่าวอัษฏางค์ หรือ ที่เราเรียกกันว่า หาดถ้ำพังเป็นชายหาดที่จัดว่ามีโค้งอ่าวที่สวยงามเหมาะแก่การมาพักผ่อนเล่นน้ำทะเล เป็นจุดที่สามารถนั่งดื่มด่ำยามเย็นเพื่อชมพระอาทิตย์ลับขอบน้ำ อีกทั้งหาดถ้ำพังมีอาหารเครื่องดื่มไว้คอยบริการทุกท่านและได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่โดยจัดทำสถานที่สำหรับสูบบุหรี่ไว้ให้โดยเฉพาะ
ประภาคารด่านศุลกากร
เป็นประภาคารทรงจีนที่มีความสูงขนาดตึก 10 ชั้นตั้งระหว่างอยู่ท่าเทียบเรือศุลกากรหน้าเกาะสีชังเเละในช่วงกลางคืนจะมีการประดับไฟที่สวยงามสลับกันไปมาถึง 7 สีเป็นสถานที่เหมาะแก่การมาถ่ายภาพ ซึ่งบริเวณแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของเรือตรวจการณ์ลำแรกๆของศุลากรที่ปัจจุบันได้นำมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชมฟรี
ท่ายายทิมและทะเลเเหวก
ท่ายายทิม เป็นหาดทรายเล็กๆที่สามารถเล่นน้ำได้ เเละช่วงน้ำลงจะสามารถเดินข้ามไปเที่ยวเกาะยายท้าว เราจึงมักเรียกกันว่า “ทะเลเเหวก” ซึ่งเป็นจุดดำน้ำดูแนวปะการังทั้งสองฝั่งทะเล เเละในระหว่างเส้นทางของท่ายายทิมยังเป็นจุดสำหรับชมกระรอกขาว ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำถิ่นของเกาะสีชัง ณ ที่แห่งนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ไกลถึงเมืองพัทยาภายใต้ร่มเงาของอุโมงค์ต้นไม้ริมทาง